ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. .... เป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อเป็นกลไกในการปฏิรูปสังคมขององค์กรในสังคมจากภาคส่วนต่างๆ ให้เข้ามาร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
เพื่อให้กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายเกิดความสมบูรณ์ก่อนการนำไปสู่การบังคับใช้จริง จึงได้มีการจัดทำเอกสารบทวิเคราะห์ผลกระทบนี้ขึ้นโดยนำเอาผลที่ได้จากกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวของคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน รวมทั้งข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาประกอบการจัดทำ เพื่อใช้เป้นข้อมูลประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติต่อไป
๑. ผู้ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย
จากการวิเคราะห์พบว่า ผู้ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายโดยตรง ดังนี้
(๑)คณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (คกส.) ซึ่งได้รับการจัดตั้งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม พ.ศ. ๒๕๕๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐
(๒)สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) ซึ่งได้รับการจัดตั้งตามระเบียบสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พ.ศ. ๒๕๕๓ (ยกเลิกแล้ว)
(๓) องค์กรหรือบริษัทเอกชนที่มีการใช้ชื่อ สัญลักษณ์ และหรือดำเนินการในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม (ก่อนที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ)
(๔)ผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม ตามนิยามของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. ....
ส่วนที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม ได้แก่
(๑)กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในส่วนของการจดทะเบียนและระบบรับรอง
(๒)กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ในส่วนของการออกกฎหมายเพื่อสิทธิประโยชน์ด้านภาษี
(๓)กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ในส่วนของการจดทะเบียนและระบบรับรอง
(๔) องค์กรที่มีวัตถุประสงค์ทางสังคมหรือชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ องค์กรสาธารณะประโยชน์ องค์กรพัฒนาภาคเอกชน หน่วยธุรกิจด้านความรับผิดชอบทางสังคมของบริษัทเอกชน
๒. ผลกระทบที่อาจได้รับจากร่างกฎหมาย โดยการวิเคราะห์ผลกระทบแยกออกเป็น ๒ ส่วน คือ ผลกระทบเชิงบวกและผลกระทบเชิงลบในแต่ละด้าน ดังนี้
(๑) ด้านเศรษฐกิจ
ผลกระทบเชิงบวก
ทำให้การประกอบกิจการหรือการดำเนินการของภาคเอกชน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม อันถือเป็นการประกอบกิจการหรือการดำเนินการเพื่อสังคมมีความ
พร้อมจะเข้ามาแข่งขันทางการค้า ทั้งในระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยประสานการสนับสนุนและความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคมมีความเข็มแข็งสามารถแข่งขันทางการค้าได้ จะทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ทางการเงิน ส่งผลให้สังคมหรือสิ่งแวดล้อมได้รับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาอย่างเหมาะสมและยั่งยืนยิ่งขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจและสังคมเติบโตซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมทางเศรษฐกิจต่อไป
ผลกระทบเชิงลบ
- ไม่มี -
(๒) ด้านสังคม
ผลกระทบเชิงบวก
เนื่องจากปัจจุบันมีการประกอบกิจการของภาคเอกชนในลักษณะเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม
มากขึ้น แต่ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่จะช่วยส่งเสริมหรือสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร และยังไม่มีการจัดตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่เฉพาะในการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม รวมทั้งให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมแห่งชาติ เพื่อกำหนดนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างรอบด้านและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงต้องมีการออกกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลทำให้การประกอบกิจการหรือการดำเนินการของภาคเอกชนที่มีเป้าหมายเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม อันเป็นการประกอบกิจการหรือการดำเนินการเพื่อสังคมมีระบบที่ชัดเจน และได้รับการส่งเสริมหรือสนับสนุนจากภาครัฐ รวมทั้งมีการประสานงาน การสนับสนุน และร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินการของวิสาหกิจเพื่อสังคมดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้ชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อมได้รับการแก้ไขปัญหาและพัฒนา
อย่างเหมาะสมและยั่งยืน
ผลกระทบเชิงลบ
- ไม่มี -
(๓) ด้านอื่นๆ
ผลกระทบเชิงบวก
- เกิดความชัดเจนในการดำเนินการวิสาหกิจเพื่อสังคมที่เกิดจากระบบการขึ้นทะเบียน
การออกใบรับรองจากภาครัฐ และ การเกิดหน่วยงานที่มารับผิดชอบอย่างชัดเจนทั้งในระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติ และในภาคผู้ประกอบการ
- เกิดระบบนิเวศน์สนับสนุนที่มีคุณภาพเพียงพอต่อการเกิดและเติบโตของเครือข่ายวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ยั่งยืน อันเนื่องมาจากมาตรการส่งเสริมที่ชัดเจนและกลไกการทำงานที่มีประสิทธิภาพ อันจะช่วยจูงใจให้องค์กรจากทุกภาคส่วนมาร่วมเป็นภาคีเพื่อการพัฒนาประเทศในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม
- องค์กรภาคสังคม เช่น วิสาหกิจเพื่อสังคม สหกรณ์ องค์กรสาธารณประโยชน์ องค์กรพัฒนาเอกชน จะเกิดการยกระดับการทำงานที่จะเน้นผลลัพธ์ของการดำเนินการ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ทางการเงิน
- องค์กรภาคเอกชนจำนวนมากจะปรับเปลี่ยนการดำเนินการงานทางสังคมจากเดิมที่เน้นการบริจาคเงินและสิ่งของมาสู่การดำเนินการในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม และหรือการลงทุนทางสังคม ซึ่งมีประสิทธิภาพและนำสู่ผลกระทบทางสังคมสูงกว่า
ผลกระทบเชิงลบ
องค์กรที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ทางสังคมจำนวนมากอาจแฝงตัวเข้ามาขอการส่งเสริมเพื่อรับสิทธิประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น เช่น การยกเว้นภาษีนิติบุคคล โดยตรวจสอบได้ยาก หากไม่มีการควบคุมกำกับที่ดี อันอาจนำไปสู่ช่องทางในการฟอกเงินหรือหลีกเลี่ยงภาษี
๑. ประโยชน์ที่ประชาชนและสังคมจะได้รับ
๓.๑ เกิดรูปแบบองค์กรทางสังคมแบบใหม่ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ต่างไปจากรูปแบบเดิม เช่น หน่วยงานภาครัฐ หน่วย CSR ภาคเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์ องค์กรพัฒนาภาคเอกชน โดยจะเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ สามารถพึ่งพาตนเองได้ทางการเงิน และเติบโตได้
ในระบบตลาดปกติของสังคม
๓.๒ ประชาชนและภาคเอกชนจะมีทางเลือกในการสนับสนุนงานทางสังคมมากขึ้น นอกเหนือไปจากเพียงการบริจาคซึ่งให้แล้วหมดไป เช่น การร่วมสนับสนุนผ่านการซื้อสินค้าหรือบริการ
การลงทุนทางสังคม นอกจากนั้นประชาชนยังจะมีทางเลือกในระบบบริการสาธารณะ (Public services) เพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการบริการที่ดำเนินการเองโดยหน่วยงานรัฐ และให้สัมปทานภาคเอกชน
๓.๓ ภาครัฐจะสามารถลดภาระทางงบประมาณในการดำเนินการลงได้อันเนื่องมาจากการ
มีกลไกวิสาหกิจเพื่อสังคมและเงินลงทุนทางสังคมจากประชาชนและภาคเอกชนที่มีประสิทธิภาพเข้ามาสนับสนุนการดำเนินการเพิ่มเติม
๓.๔ รูปแบบการดำเนินการของสำนักงานฯ และกองทุนที่เน้นผลลัพธ์การดำเนินการ (performance-based) และพึ่งพาตนเองได้ แทนที่จะเน้นไปที่การทำงานในรูปแบบค่าใช้จ่ายซึ่งต้องพึ่งพางบประมาณจากภาครัฐ (expense-based) จะเป็นการปฏิรูปรูปแบบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่จะต้องตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของสังคมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบของประเทศได้ต่อไปในอนาคตหากดำเนินการได้สำเร็จ