รายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น
ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. ....
------------------------------------
ตามที่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้นำร่างพระราชบัญญัติการศึกษา
พระปริยัติธรรม พ.ศ. .... ไปดำเนินการจัดทำตามบทบัญญัติมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ จัดทำให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. .... โดยให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนทั่วไป พระภิกษุ สามเณร แสดงความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ www.onab.go.th ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เว็บไซต์ www.lawamendment.go.th ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและทางโทรสาร ๐ ๒๔๔๑ ๗๙๔๘ตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๑ ถึงวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๑ เพื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
จะได้รวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. .... ประกอบการพิจารณาของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต่อไป
บัดนี้ ได้สิ้นสุดระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นแล้ว สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขอรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. .... ดังนี้
๑. วิธีการรับฟังความคิดเห็น
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำ
ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. .... ผ่านทางเว็บไซต์ www.onab.go.th ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยมีผู้เข้าชม จำนวน ๑,๕๗๔ รูป/คน และแสดงความคิดเห็น จำนวน ๒๑ รูป/คน และทางเว็บไซต์ www.lawamendment.go.th ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและทางโทรสาร ๐ ๒๔๔๑ ๗๙๔๘ โดยมีผู้เข้าชม จำนวน ๕,๓๐๙ รูป/คน และแสดงความคิดเห็น จำนวน ๔ รูป/คน
๒. ระยะเวลารับฟังความคิดเห็น
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำ
ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. .... ตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม - ๗ กันยายน ๒๕๖๑ รวมระยะเวลา ๑๕ วัน
๓. พื้นที่หรือกลุ่มเป้าหมายในการรับฟังความคิดเห็น
ในการรับฟังความคิดเห็น กลุ่มเป้าหมายในการรับฟังความคิดเห็นประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประชาชนทั่วไป รวมทั้งพระภิกษุ สามเณร ตลอดจนผู้มีสวนได้ส่วนเสียกับ
ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. ....
๔. ประเด็นที่มีการแสดงความคิดเห็น ข้อคัดค้านหรือความเห็นของหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้อง
ในแต่ละประเด็น และคำชี้แจงเหตุผลรายประเด็น
หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นแล้ว (วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๑) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้รับความคิดเห็นจากพระภิกษุ สามเณร ประชาชนทั่วไป องค์กรเครือข่ายมูลนิธิ และได้นำความเห็นที่ได้รับข้างต้นมาประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว อาจสรุปความคิดเห็นในส่วนที่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. ... ได้ว่าเป็นการพัฒนาการศึกษาของคณะสงฆ์ให้มีระบบแบบแผนและมีทิศทางการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาศาสนทายาทผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาให้มีคุณภาพ
- ๒ -
กรณีมีผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติฯ ว่า สถาบันพระพุทธศาสนาหรือคณะสงฆ์
ไม่ควรเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา แผนกสามัญศึกษา นั้น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พิจารณาแล้ว เห็นว่า ตามกฎกระทรวง ว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสถาบันพระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อ ๒ กำหนดให้สถาบันพระพุทธศาสนามีสิทธิจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่พระภิกษุ สามเณรในโรงเรียน สำนักศาสนศึกษาและสำนักเรียนข้อ ๓ กำหนดให้การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยสถาบันพระพุทธศาสนา แบ่งเป็นระดับ ดังนี้ (๑) การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เป็นการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (๒) การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม และการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ที่ได้จัดให้แก่พระภิกษุ สามเณรซึ่งมีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าระดับประถมศึกษาปีที่หกหรือเทียบเท่าและได้ศึกษาวิชาสามัญเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดโดยคำแนะนำของมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานที่แบ่งเป็นระดับ ดังนี้ (ก) การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม เป็นการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ข) การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลี ชั้นเปรียญธรรม ๓ ประโยค เป็นการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายดังนั้น การที่สถาบันพระพุทธศาสนาหรือคณะสงฆ์ ได้ดำเนินการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาจึงเป็นการจัดการศึกษาตามกฎกระทรวง ว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยสถาบันพระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งออกตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕ และมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒
อนึ่ง กรณีมีผู้แสดงความคิดเห็นให้ประกาศชื่อผู้สอบผ่านชั้นเปรียญธรรม ๙ ประโยค ทางหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน เพื่อให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นนั้น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขอชี้แจงว่า การประกาศผลสอบบาลีสนามหลวงทุกชั้นประโยคในแต่ละปีนั้น สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง ได้ประกาศผลสอบบาลีสนามหลวง ณ สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง ทางหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ทางเว็บไซต์สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง รวมทั้งได้จัดพิมพ์เป็นรูปเล่มอีกด้วย ซึ่งได้ดำเนินการเป็นประจำในทุก ๆ ปีอยู่แล้ว
๕. การนำผลการรับฟังความคิดเห็นมาประกอบการพิจารณาจัดทำร่างกฎหมาย
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะนำผลการรับฟังความคิดเห็นเสนอต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. .... ต่อไป